พื้นที่อ.พร้าว

     การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย อันจะเห็นได้จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 39.79 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.24 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.93 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.05เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 166.84 ล้านคน-ครั้ง มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.18 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สรุปจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้สะสม ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2562 จำนวนรายได้สะสมจากการท่องเที่ยวมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 3.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.37 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา, 2563)

      โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวไทย หนึ่งในประเภทของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนที่ได้รับความนิยมคือคือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้ในหลากหลายมิติทั้งการรักษาสภาพแวดล้อม พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเติบโตมาจากรูปแบบของความหลากหลายของแหล่งเกษตรกรรมและวิถีชนบทของประเทศไทย ทำให้ครอบครัวของเกษตรกรมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต

     การท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและก่อประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นในหลายๆทิศทาง อย่างไรก็ตามการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนจำเป็นต้องพัฒนาไปบนพื้นฐานความพร้อมและความต้องการของชุมชน เพื่อที่จะสามารถทำให้คนในพื้นที่สามารถพัฒนาและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และเมื่อคนในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการจัดการเรียนรู้ จะทำให้คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและ ตระหนักที่จะช่วยเหลือร่วมมือพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งกระบวนการพัฒนาดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มากเพียงพอเพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เข้มแข็งโดยเฉพาะในด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บุคคลภายนอกรู้จักชุมชน จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และการวางแผนเลือกใช้สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งในสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมคือ ภาพถ่าย ) โดยเฉพาะในปัจจุบันนั้นการใช้ภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวได้ถูกเผยแพร่ในโลกโซเชียลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะปฏิเสธไม่ได้เลยคือ เฟสบุ๊ค (Facebook) ที่มีลักษณะการเผยแพร่รวดเร็วด้วยวิธีการแชร์ต่อ ซึ่งเป็นรูปแบบของเครือข่ายไร้พรมแดนอย่างชัดเจนมากขึ้น ภาพถ่ายจึงเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์เป็นการเผยแพร่ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดีรวดเร็วและเข้าถึงง่าย ทุกที่ทุกเวลา มีประสิทธิภาพที่ช่วยในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ผลดีช่วยในการทํางานด้านการท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ช่องทาง เฟสบุ๊คในการแบ่งปันประสบการณ์เป็นการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทําให้เกิดภาพลักษณ์อันดีก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และความรู้สึกต่อจุดหมายปลายทางแก่นักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น (วัชระ สุตะโคตร, 2560, น. 1388-1417)

      ภาพถ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์ เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ผู้ถ่ายภาพต้องการ จะแสดงให้เห็น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงหรือเน้นในส่วนที่สวยงาม ดูดี มีคุณค่าหรือให้เห็นเฉพาะสิ่งที่ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี ดังนั้น การถ่ายภาพที่จะนำมาใช้ในการถ่ายภาพต้องมีครบถ้วน เพื่อที่สามารถถ่ายภาพ ได้ตามความต้องการ วัสดุที่เลือกใช้ต้องมีคุณภาพที่ดีได้มาตรฐาน จึงจะสามารถผลิตภาพถ่ายที่มีคุณค่าสำหรับ การประชาสัมพันธ์ ขั้นตอนของการถ่ายภาพต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้ถ่ายมาก เริ่มตั้งแต่การเลือกมุม เพื่อตั้งกล้องถ่ายภาพเป็นส่วนใหญ่ การจัดองค์ประกอบของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพถ่ายก็เป็นเรื่องสำคัญต้องนำหลักของการจัดองค์ประกอบมาใช้อย่างครบถ้วน อีกทั้งต้องพิจารณาทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายให้ดีที่สุด (ศูนย์ข้อมูลและการบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, 2559)

ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน ได้แก่ ห้วยล้าน, บ้านหนองปิด บ้านสันผักฮี้ บ้านท่ามะเกี้ยง บ้านสันปง บ้านขามสุ่ม บ้านสันทราย บ้านศรีค้ำ บ้านต้นโชค บ้านหนองครก บ้านสันฮกฟ้า บ้านแม่ปาคี บ้านโป่งเย็น บ้านผาแดง เป็นตำบลที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวหอมมะลิ 105 การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านท้องถิ่น ลักษณะภูมิประเทศแวดล้อมด้วยภูเขา และที่ราบเชิงเขาในชั้นความสูง 439 - 10342 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภูมิประเทศมีลักษณะลาดเอียง โดยมีพื้นที่ราบอยู่ทางตอนกลาง โดยมีแม่น้ำงัด และลำน้ำแม่โก๋น เป็นแม่น้ำสายหลัก มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ 1)พระธาตุดอยนางแลเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ และเป็นโบราณสถานของชาว ต.สันทราย ตั้งอยู่บนดอยนางแลซึ่งประมาณเดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายนของทุกปีจะได้มีการจัดงานสรงน้ำพระธาตุดอยนางแลขึ้นทุกปีตามประเพณีโบราณ 2) โป่งน้ำร้อนบ้านหนองครกโป่งน้ำร้อนบ้านหนองครกตั้งอยู่ ณ บ้านหนองครก หมู่ที่ 10 ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โป่งน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีทั้งหมด 3 บ่อ มีอุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส และแวดล้อมไปด้วยป่าเขา และนกป่าปัจจุบันทาง อ.พร้าว ได้ร่วมกับ อบต.สันทราย เพื่อพัฒนาโป่งร้อนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ น้ำตกห้วยป่าพลู 3) น้ำตกห้วยป่าพลูตั้งอยู่ ณ บ้านสันฮกฟ้า หมู่ที่ 11 ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นน้ำตามธรรมชาติ มีทั้งหมด 3 ชั้น ซึ่งเกิดจากป่าต้นน้ำ ห้วยป่าพลู โดยจะไหลลงมาตามลำห้วย และโขดหินน้อยใหญ่ และโพยพุ่งลงสู่พื้นล่างตามชั้นความสูง ทำให้เกิดน้ำตก และละออกน้ำที่เย็นชุ่ม นอกจากนั้นภูมิทัศน์โดยรอบยังประกอบด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และเสียงนกป่าร้องเรียกประสานเสียง จึงทำให้น้ำตกแห่งนี้มีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง (ไทยตำบลดอทคอม, 2558)

     อีกทั้งสภาพแวดล้อมของเมืองยังไม่ได้มีความเจริญเทียบเท่าหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค ทำให้ผู้มาเยือนสามารถสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตแบบล้านนาอัน เรียบง่าย ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบันและเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง หากแต่ทำเลที่ตั้งของตำบลสันทรายไม่ได้อยู่ติดถนนสายหลักของประเทศ ทำให้เป็นจังหวัดที่มีอุปสรรคทางด้านการเดินทาง และไม่ได้รับความนิยมในการลงทุนจาก ภาคเอกชน ประกอบกับการขาดนโยบาย และงบประมาณการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากหน่วยรัฐที่เพียงพอ ส่งผลให้รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นด้านการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่ได้มีมุมมองด้านความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับจังหวัดร่วมกับภาครัฐที่มากเพียงพอ อีกทั้งด้านการประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวของตำบลสันทรายที่พบเห็นในปัจจุบัน ขาดสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพทำให้สถานที่ท่องเที่ยวไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

     จากสภาพปัญหาข้างต้นผู้วิจัยเล็งเห็นว่า หากมีการพัฒนาการสร้างแนวทางการประชาสัมพันธ์ โดยใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานข้อมูลภาพถ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถนำภาพถ่ายไปใช้งานในการทำสื่อประสัมพันธ์และเผยแพร่ออกสู่ภายนอก อันจะส่งผลให้การประชาสัมพันธ์ ข้อมูลไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม สามารถทำให้ชุมชนมีโอกาส ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้วิจัยมีแนวคิด ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการร่วมกัน แล้ว จึงนำไปพัฒนาให้เป็นแนวทางสร้างชุดภาพถ่ายที่ชัดเจน อีกทั้งนำหลัก 5S OTOP นวัตวิถี ได้แก่ Smile, Story, Secret, Surprise และ Spirit เข้ามาใช้ร่วมในกระบวนการออกแบบพัฒนาชุดภาพถ่ายที่สร้างจากความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่งงานวิจัยนี้จะสร้างสรรค์ชุดภาพถ่ายที่มีเนื้อหาสนับสนุนยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้านอาหาร สุขภาพ และ ผู้สูงอายุ และล้านนาสร้างสรรค์ โดยผู้วิจัยคาดหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นงานวิจัยที่ทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนและชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (actively engaged) และรวมถึงสร้างแนวคิดทางการประชาสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างชุมชนในอนาคตต่อไป

มีรายชื่อนักวิจัยที่ร่วมดำเนินโครงการดังต่อไปนี้...

1.ารสร้างสร้างสมรรถนะด้านการผลิตและการตลาดของกลุ่มผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจอินทรีย์ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ วรพงศ์ ตระการศิรินนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

2.การพัฒนาเครือข่ายการผลิตและการบริโภคอาหารปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยชุมชนมีส่วนร่วมในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ ธัญภรณ์ เกิดน้อย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

3.การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตพืชเกษตรกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของ เกษตรกรสหกรณ์แปลงสอง อําเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ ธงชัย ภูวนาถวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์

4.ครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน วิถีหัตถกรรมศิลปะพื้นบ้าน และวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้แนวคิดเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ ในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ วัชรพงษ์ ชุมดวง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

5.ครงการการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงและการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวของชาวบ้าน ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ ศุภรดา ประภาวงศ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

6.การพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมทางกายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ กฤษณะ บุญประสิทธิ์ คณะศึกษาศาสตร์

7. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตด้านสุขภาพและทักษะอาชีพสำหรับนักเรียนของโรงเรียนขยายโอกาสในเขตตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ จุไรรัตน์ โขงรัมย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

8.มุมมองของผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ณ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ อาจารี รายะนาคร คณะสาธารณสุขศาสตร์

9.โครงการ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการปรับปรุงความปลอดภัยถนนท้องถิ่น ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ ดนัย ลิขิตรัตน์เจริญ คณะบริหารธุรกิจ

10.ครงการพัฒนาชุดภาพถ่ายเพื่อสร้างฐานข้อมูลภาพถ่ายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

๐ ศักรินทร์ สุทธิสาร คณะวิจิตรศิลป์

11.การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตพืชเกษตรกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรสหกรณ์แปลงสอง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ต่อเนื่องระยะที่ 2)

๐ ธงชัย ภูวนาถวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์