มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย โดยคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา จากทุกคณะ/ส่วนงาน ซึ่งบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่ชุมชน ท้องถิ่นและสังคมวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริการวิชาการด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และการเสริมพลังชุมชน/ท้องถิ่นจนเกิดความเข้มแข็ง ในช่วงทศวรรษที่ 6 ตรงกับแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (ปี 2560-2564) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำ รับผิดชอบต่อสังคม และสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน”

   เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “รับผิดชอบต่อสังคม” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นดำเนินการตาม “แนวคิดพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Societal Engagement) โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมายและได้รับการนึกถึงเป็น “ที่แรก” ในการแก้ไขปัญหาสำคัญและเสริมพลัง (Empowerment) ของชุมชน ท้องถิ่นและสังคมโดยใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยและเครือข่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดผล 1) คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น จากการบริการองค์ความรู้พร้อมใช้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ 2) ผลงานบริการวิชาการสหวิทยาการที่สร้างผลกระทบสูงในวงกว้าง ต่อชุมชน/กลุ่มจังหวัด/ประเทศ และ 3) บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้นำ ในองค์กรด้านวิชาการรับใช้สังคม ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ

   เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดผลตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม (Vice President for Academic Service and Societal Engagement) พร้อมสนับสนุน “หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม” เป็นกลไกระดับมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคม ซึ่งหมายถึง ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่นหรือชุมชน ที่เกิดขึ้นโดยใช้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาอย่างน้อยหนึ่งสาขาวิชา ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ การบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง จนปรากฏผลที่สามารถประเมินได้เป็นรูปธรรมโดยประจักษ์ต่อสาธารณะ ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนี้ต้องเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านเกี่ยวกับ ชุมชน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง คุณภาพชีวิต หรือสุขภาพ หรือเป็นผลงานที่นำไปสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบอื่นที่สามารถแสดงได้เป็นที่ประจักษ์ ว่าสามารถใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจน หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในความตระหนักและการรับรู้ในปัญหาและแนวทางแก้ไขของชุมชน”


การริเริ่มและทุนเดิมในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดย ระหว่างปี 2554-2561 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มพัฒนาระบบสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคมให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการ ดังนี้

   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม ในรูปแบบของการวิจัยรับใช้สังคมและการบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิชาการรับใช้สังคม (Centers of Engagement - COEn) ในฐานะกลไกระดับส่วนงานที่จะคอยเอื้ออำนวยให้เกิดงานวิชาการรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเน้นประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ได้แก่ 1)Environment and Energy 2)Food-Health and aging และ 3)Creative Lanna และได้กำหนดพื้นที่นำร่องในชนบท ได้แก่ อำเภออมก๋อย อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน รวมทั้งพื้นที่นำร่องเขตเมือง ได้แก่ ชุมชนในเมืองเชียงใหม่ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นตำบลสุเทพ ตำบลช้างเผือก เป็นต้น

   โดยสนับสนุนงบประมาณเงินรายได้ รวมทั้ง การ Matching fund กับแหล่งทุนวิจัย อื่นๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วช. และ สสส. เป็นต้น และจากการทำงานที่ผ่านมาของทางหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมทำงาน ร่วมบริหารจัดการ และร่วมพัฒนาระบบของหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญเป็นที่ยอมรับของอาจารย์นักวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยภายนอก จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด ได้แก่


1)คณะกรรมการพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการรับใช้สังคม

2)การพัฒนากระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยและบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง

3)การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อศักยภาพบุคลากรดำเนินงานวิชาการรับใช้สังคม

4)การพัฒนากระบวนการเตรียมเอกสารผลงานวิชาการรับใช้สังคมเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

เพื่อให้เป็นทีมหลักในการดำเนินงานแต่ละส่วนร่วมกันต่อไป